Yes! We can end TB! “ยุติวัณโรค เราทำได้” 

ภารกิจยุติวัณโรค โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้การทำงานร่วมกับ ‘อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ – อสต.’ เพื่อพี่น้องประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าถึงบริการสุขภาพ
ภารกิจยุติวัณโรค โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้การทำงานร่วมกับ ‘อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ – อสต.’ เพื่อพี่น้องประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าถึงบริการสุขภาพ

ข้อมูลจากกองวัณโรคระบุว่า มีผู้ป่วยวัณโรค 111,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 72,274 รายเท่านั้นที่มีการขึ้นทะเบียนเข้าสู่การรักษา ส่วนที่เหลืออีก 38,726 รายเป็นกลุ่มที่ไม่มีการรายงาน/ไม่ได้รับการวินิจฉัย ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดระบุว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากวัณโรคสูงถึง 13,700 ราย

ประเทศไทยโดยการผสานกำลังทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคประชาชน รวมถึงการสนับสนุนจากองก์กรนานาชาติ แม้จะสามารถเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง และมีแนวโน้มอุบัติการณ์ของวัณโรคลดลงตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด

“มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการดำเนินงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ ในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลก โดยใช้แนวทาง RRTTPR คือ Reach การเข้าถึง – Recruit การรับเข้าระบบบริการสุขภาพ – Test การตรวจวินิจฉัย – Treat การรักษา – Prevent การป้องกัน และ Retain การดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึง ข้ามกำแพงภาษา สร้างความไว้ใจ อันจะนำไปสู่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสิทธิอื่นๆ อย่างเท่าเทียม เราได้ดำเนินงานพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) พัฒนาความรู้ให้สามารถทำหน้าที่สนับสนุนงานบริการสาธารณสุขสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติในประเทศไทย เป็นตัวแทนในการสื่อสาร ทำให้การดำเนินงานสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น และทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมถึงสิทธิพื้นฐานอื่นๆ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วย” ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ ฉายภาพการดำเนินงานด้านการยุติวัณโรค และงานส่งเสริมด้านสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในประเทศไทย

อสต. เป็นตา เป็นปาก เป็นหู เป็นกำลังสำคัญในการยุติวัณโรค

อสต. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ มีบทบาทอย่างไรบ้าง? วันนี้เราจะมาทำความรู้จักพวกเขากับภารกิจภายใต้ “โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR 2021-2023” พื้นที่ดำเนินงาน จ.เชียงราย

นายอนุชา มอพ่า ผู้ประสานงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ จ.เชียงราย กล่าวว่า “ถ้าจะเปรียบ อสต. เป็นอวัยวะในร่างกาย อสต. เปรียบเสมือนตาที่คอยมองคอยเฝ้าระวัง เป็นปากที่คอยแจ้งเหตุ เป็นหูที่คอยฟังปัญหาของพี่น้องประชากรข้ามชาติ สะท้อนและร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน อสต. เป็นคนที่อยู่ในชุมชน อาสาสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับทีมงานภาคสนาม ให้ความรู้ด้านสุขภาพกับเพื่อนประชากรข้ามชาติ เป็นล่าม ให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงการเฝ้าติดตามการเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามชาติที่อาจจะนำโรคติดต่อเข้ามาแพร่กระจายในชุมชน”

นางมล อายุ 46 ปี ผู้รับไม้ต่อการเป็น อสต. จากสามี “หากเราพบพี่น้องมีอาการป่วยด้วยโรคติดต่อ เช่น เป็นวัณโรค ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ นำเข้าสู่กระบวนการตรวจรักษา มีโอกาสร่วมกับเจ้าหน้าที่ให้ความรู้กับพี่น้องในชุมชน และอีกหนึ่งความภูมิใจก็คือการได้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงกำกับการกินยาของผู้ป่วยวัณโรคในชุมชน เตือนให้กินยาตรงเวลา การกินยาตรงเวลามีความสำคัญมาก หากกินยาไม่ตรงเวลาการรักษาก็ไม่ได้ผล และอาจเกิดวัณโรคดื้อยา รักษายากขึ้น ใช้เงินมากขึ้นในที่สุด”

หมี่ชู้ อายุ 32 ปี อีกหนึ่ง อสต. ที่มองว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น “ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 การได้เข้ามาเป็น อสต. ไม่ใช่เรื่องเหนื่อยค่ะ แต่กลับเป็นเรื่องสนุก และตัวหนูเองยังได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ เป็นการพัฒนาตัวเองด้วย ยิ่งถ้าเราได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก เรายิ่งมีความภาคภูมิใจและมีความสุขไปกับเขา”

วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ไม่ควรกลัวหรือรังเกียจผู้ป่วยวัณโรค

“รู้สึกดีใจที่ได้รับความช่วยเหลือ ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลืออาจจะตายไปแล้วก็ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงหมอ และไม่ได้รับการรักษา ที่ผ่านมา อสต. และศุภนิมิตฯ เข้ามาช่วยเหลือทั้งพาไปรักษา ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ สนับสนุนค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล และยังได้รับการช่วยเหลือค่าตรวจหาเชื้อวัณโรคของลูกๆ เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลด้วยค่ะ ตอนนี้ทานยาเกือบครบแล้ว อาการป่วยวัณโรคหายทั้งหมดแล้วค่ะ” นางคำนวล ประชากรข้ามชาติชาวเมียนมา ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ จ.เชียงราย

“สำหรับครอบครัวของเรา มูลนิธิศุภนิมิตฯ เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทางในยามที่เรากลัว เป็นความช่วยเหลือเมื่อเรามองไม่เห็นใคร ซึ่งมันเป็นมากกว่าความช่วยเหลือ มันเป็นความอุ่นใจและไม่โดดเดี่ยว” นางยิน ประชากรข้ามชาติชาวเมียนมา ที่เคยป่วยจากโรควัณโรค และได้รับความช่วยเหลือจาก โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ จ.เชียงราย กล่าวด้วยความสุขในวันที่หายป่วยวัณโรค

ยุติวัณโรค… เราทำได้

โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ และการสนับสนุนจากกองทุนโลก ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับเหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ พวกเขายังคงทุ่มเทอย่างเสียสละ เพื่อให้เพื่อนพี่น้องประชากรข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพ… อย่างเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวถึงความสำเร็จในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมขับเคลื่อนและยุติวัณโรค

“ในปี 2023 ที่ผ่านมา ด้วยการทำงานร่วมกับ อสต. ทั้ง 656 คนภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการส่งเสริมความรู้การป้องกันโรควัณโรคและเอดส์ รวมถึงความรู้สุขภาพื้นฐานให้กับกลุ่มประชากรข้ามชาติกว่า 64,000 คน มีการนำส่งประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 2,472 คน โดยในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยเป็นวัณโรคจำนวน 493 ราย (ส่งต่อจากชุมชน และโรงพยาบาล) ซึ่งได้มีการสนับสนุนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพพื้นฐานที่ดี มูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการชุมชน และศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อเป็นจุดบริการที่ง่ายต่อการเข้าถึงของกลุ่มประชากรข้ามชาติ  ในพื้นที่ดำเนินงานทั่วประเทศ 61 แห่งอีกด้วย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป้ายกำกับ
Child Rights Climate Change CSR Human Rights Migrant SDG กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพ การจัดการภัยพิบัติ การตีตราและเลือกปฏิบัติ การพัฒนาสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของเด็ก ความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืน ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรุนแรงต่อเด็ก งานรณรงค์เพื่อเด็ก จัดการภัยพิบัติ จิตอาสา ทักษะชีวิตเยาวชน ทักษะอาชีพเยาวชน นโยบายการพัฒนาเด็ก น้ำเพื่อชีวิต บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน บริจาคทุนการศึกษา บริจาคเงิน ปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้นำเยาวชน พัฒนาชุมชน ภัยพิบัติ ยุติวัณโรค/End TB ยุติเอดส์/Stop AIDS สังคมแห่งการแบ่งปัน สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ส่งน้องจบ ป-ตรี อดีตเด็กในความอุปการะ อ่านออกเขียนได้ เด็กข้ามชาติ เด็กยากไร้ เสียงเด็กและเยาวชน แรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติ/ประชากรข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ

ข่าวอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า