ข้าวหอมมะลิ “เศรษฐีน้อย” เสริมทักษะอาชีพเยาวชน

เยี่ยมชมผลผลิตจากแปลงนา ความภูมิใจของเกษตรกรตัวน้อย จ.บุรีรัมย์

ข้าวหอมมะลิเม็ดสวยถูกบรรจุในถุงสุญญากาศ ภายใต้ชื่อการค้า เศรษฐีน้อย ผลิตภัณฑ์จากความพากเพียร การเรียนรู้และการลงมือทำของเกษตรกรตัวน้อย คณะครู ผู้ปกครองและหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันหว่านเมล็ดพันธุ์ สู่การเก็บเกี่ยวภายใต้ โครงการสอนน้องทำนา

“พื้นที่ 2 ไร่ ที่ชุมชนจัดสรรมาให้ทางโรงเรียนดูแล ถูกจัดเป็นพื้นที่การทำนาแบบดั้งเดิม ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำนาซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชน” นายสมพงษ์ บุตรศรีภูมิ ผู้อำนวยการโรงเรียน

หลายท่านคงอดสงสัยไม่ได้ว่าภาพของการทำนา น่าจะเป็นเป็นวิถีชีวิต ที่เด็กๆ ในต่างจังหวัดคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่เพราะอะไร? ที่โรงเรียนแห่งนี้ถึงยังคงดำเนินกิจกรรมการทำนาแบบดั้งเดิมอยู่ นายสมพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมคลายข้อสงสัยว่า “เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปกครอง นักเรียน โรงเรียน ชุมชน ได้ทำกิจกรรมด้วยกัน เด็กๆ ได้เรียนรู้รูปแบบการทำนาแบบดั้งเดิม ตระหนักรู้คุณค่าของอาชีพชาวนา และพัฒนาให้เขามีทักษะอาชีพติดตัว”

พร้อมขยายความให้เข้าใจเพิ่มเติมว่า “การทำนาทุกวันนี้ลดขั้นตอนและเวลาลงจากเดิมมากเพราะเป็นนาหว่าน มีทั้งรถไถนา รถเกี่ยวข้าว แต่ในการทำนาแบบดั้งเดิมของเราจะเริ่มตั้งแต่การไถพรวนดิน เตรียมกล้าข้าว ช่วงฤดูกาลดำนาเป็นช่วงที่เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ตั้งแต่การถอนกล้าข้าว มาสู่การปักดำ ได้เล่นโคลนเล่นน้ำสนุกเฮฮากันจนลืมเหนื่อย พอต้นข้าวเริ่มโต เด็กๆ ป.4-ป.6 จะช่วยกันดูแลคอยถอนหญ้าออกจากแปลงนา และพอย่างเข้าฤดูการเก็บเกี่ยวก็จะมีประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวที่คนในชุมชนและตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ก็จะมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ จนเมื่อเสร็จงานแล้วทุกคนจะมาล้อมวงกินข้าวด้วยกัน ซึ่งเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกภาคส่วน ไม่ถึงครึ่งวันก็เสร็จกิจกรรม นี่คือภาพแห่งความสามัคคีของคนต่างวัยที่หาได้ไม่ง่ายแล้วในปัจจุบัน”

“โรงเรียนเราทำการเกษตร โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผัก เราเอาข้าวไปสีที่โรงสีในชุมชนก็จะได้เพียงข้าวสารกลับมา ปัญหาที่เราพบคือต้องเสียเงินไปซื้อแกลบ ซื้อรำกลับมาเป็นอาหารสัตว์ เป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหมัก โดยที่ผ่านมาทาง มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยในการสนับสนุน เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการสีข้าว เปลี่ยนร่างจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร แถมยังได้อาหารสัตว์แบบฟรีๆ”

 ข้าวสารที่ได้จากเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ถูกจำหน่ายให้กับโรงครัวของโรงเรียน เงินที่ได้จากการจำหน่ายคือกองทุนในการเตรียมทำนาในฤดูกาลถัดไป บางส่วนถูกนำบรรจุถุงเพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึกให้ผู้ที่มาเยี่ยมโรงเรียน และจำหน่ายในงานต่างๆ ที่โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม

การทำนาของโรงเรียนไม่ได้ต้องการกำไรเป็นตัวเงิน แต่กำไรที่ได้คือเด็กๆ ได้เรียนรู้ ทักษะอาชีพ ปลูกฝังให้เด็กๆ ๆ ได้รู้จักคุณค่าของอาชีพชาวนา และกลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้น “การทำนาของเรามีหลายขั้นตอน เราเน้นกระบวนการเรียนรู้ ความเหน็ดเหนื่อยจะช่วยสอนเด็กๆ ให้เห็นถึงคุณค่าทั้งข้าวแต่ละเม็ด อาชีพชาวนาของพ่อแม่ เพราะเขาได้สัมผัสของจริง ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ” นายสมพงษ์ กล่าวปิดท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป้ายกำกับ
Child Rights Climate Change CSR Human Rights Migrant SDG กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพ การจัดการภัยพิบัติ การตีตราและเลือกปฏิบัติ การพัฒนาสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของเด็ก ความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืน ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรุนแรงต่อเด็ก งานรณรงค์เพื่อเด็ก จัดการภัยพิบัติ จิตอาสา ทักษะชีวิตเยาวชน ทักษะอาชีพเยาวชน นโยบายการพัฒนาเด็ก น้ำเพื่อชีวิต บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน บริจาคทุนการศึกษา บริจาคเงิน ปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้นำเยาวชน พัฒนาชุมชน ภัยพิบัติ ยุติวัณโรค/End TB ยุติเอดส์/Stop AIDS สังคมแห่งการแบ่งปัน สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ส่งน้องจบ ป-ตรี อดีตเด็กในความอุปการะ อ่านออกเขียนได้ เด็กข้ามชาติ เด็กยากไร้ เสียงเด็กและเยาวชน แรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติ/ประชากรข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ

ข่าวอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า