ยุติวัณโรคและเอดส์อย่างยั่งยืน ความท้าทายในทศวรรษนี้

มูลนิธิศุภนิมิตฯ มูลนิธิรักษ์ไทย และกรมควบคุมโรค ร่วมหารือการดำเนินงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ (STAR4) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund)

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัด การประชุมติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานรับทุนหลักจากกองทุนโลก ในการดำเนินงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ประจำปี พ.ศ. 2567-2569 (Stop TB and AIDS through RRTTPR year 2024-2026 – STAR4) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3 โดยมี 3 หน่วยงานผู้รับทุนหลัก ได้แก่ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย และสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยตัวแทนจากกองวัณโรค กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนกองทุนโลกประจำประเทศไทย (LFA) ร่วมหารือเพื่อสะท้อนผลการทำงานเพื่อการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เข้าถึงกลุ่มประชากรหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุสัมฤทธิผล

ทั้งนี้จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มวัยรุ่น (อายุ 15-24 ปี) ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันทั่วโลกมีกลุ่มวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีประมาณร้อยละ 13% ส่วนในประเทศไทย จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 9,100 คน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรในช่วงอายุ 15-24 ปี โดยสาเหตุหลักสำคัญมาจากพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย และการใช้เข็มด้วยกระบอกฉีดยาที่ไม่สะอาด

เพื่อให้สามารถยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ได้ตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ภายในปี 2573 โดยจะขับเคลื่อนแบบบูรณาการโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและจัดรูปแบบบริการโดยชุมชน สร้างระบบการบริการที่เป็นมิตรแก่กลุ่มประชากรหลัก สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้ระบบของชุมชน และขจัดปัญหาอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชนและเพศสภาวะในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ด้วยการสร้างกลไกในการสนับสนุนชุดความรู้ที่สำคัญ เทคนิคการทำงาน และการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อให้กลุ่มประชากรหลัก เช่น กลุ่มประชากรข้ามชาติ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคคลข้ามเพศ พนักงานบริการและคู่ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพด้านวัณโรคและเอดส์ อย่างเท่าเทียม เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ

Dr. Nyan Win Phyo ผู้จัดการโครงการ GF PR-WVFT กลุ่มประชากรข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้สะท้อนความท้าทายในการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรข้ามชาติ “มีหลายกรณีที่เราพบในการลงพื้นที่ในชุมชนของกลุ่มประชากรข้ามชาติ เช่น ครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่เราได้เจอ พ่อ แม่ และลูกคนเล็ก เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้ง 3 คน มีเพียงลูกคนโตเท่านั้นที่ไม่ติดเชื้อ จากการสัมภาษณ์ก็เลยได้รู้ว่าลูกคนโตไปคลอดที่โรงพยาบาลมีการควบคุมการติดเชื้อ แต่ลูกคนเล็กคลอดที่บ้านไม่มีการป้องกันใดๆ ไม่ได้ไปฝากครรภ์ด้วย กรณีครอบครัวนี้สะท้อนให้เราเห็นปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinant of Health) ของระบบสุขภาพประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องของการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน รวมถึงเรื่องของสิทธิของเด็กที่เป็นลูกของประชากรข้ามชาติ ซึ่งตามกระบวนการจะต้องมีการทำเรื่องแจ้งเกิดที่ซับซ้อนกว่าการเกิดในโรงพยาบาล ซึ่งยังเป็นข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิของเด็กด้วย”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีการตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อวัณโรค โครงการฯ จะมีการผลักดันให้สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพื่อรับการรักษา และรับยาต้านไวรัสเอชไอวี และยาป้องกันวัณโรคระยะแฝง รวมถึงมีการส่งเสริมความรู้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่สมาชิกในครอบครัว และชุมชน ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับการติดตามผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

คุณต้องพิศ ภิญโญสินวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพโครงการ มูลนิธิรักษ์ไทย ได้กล่าวถึงข้อท้าทายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องว่า ARV หรือยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อทั้งเอชไอวี มีความสำคัญมาก เราพยายามส่งต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะประชากรข้ามชาติให้มีการขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลของรัฐที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงยาไวรัสได้ง่ายและสะดวก เพราะจะต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากหลังสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนประชากรข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โควต้ายาต้านไวรัสสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติมีจำกัด หรือสถานบริการสุขภาพในพื้นบางที่ไม่รองรับการบริการ หลายครั้งเราต้องพาผู้ป่วยเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อให้สามารถเข้าถึงการรักษา เป็นข้อท้าทายเชิงระบบในการดูแลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง”

ในส่วนการดำเนินงานของ กรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงงานด้านการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก “กรมควบคุมโรคมีการกระจายชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง (Oral fluid HIV self-test) ในกลุ่มเป้าหมาย โดยนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และนครราชสีมา ทั้งนี้กลยุทธ์ของการใช้ชุดตรวจด้วยตนเองลดภาระให้กลุ่มเป้าหมายไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางมาโรงพยาบาล รวมถึงลดอุปสรรคด้านภาษาสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติในการเข้ามารับบริการสุขภาพ” คุณบุษบา ตันติศักดิ์ นำเสนอผลการดำเนินงาน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันในการประชุมครั้งนี้คือ การจัดตั้งกลไกสนับสนุนทางเทคนิค การขจัดอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชนและเพศภาวะในการเข้าถึงบริการ นอกจากเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิแล้ว ยังมีความหมายรวมถึงการรณรงค์และสร้างความตระหนักด้าน การไม่ตีตรา (Stigma) และ การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ต่อผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเอชไอวี และวัณโรค เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะ วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ ส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากผู้ได้รับเชื้อได้รับยาต้านไวรัสเป็นอย่างดีและไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม จนกระทั่งระดับไวรัสเอชไอวีในเลือดต่ำมากจนไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป (Undetectable) ก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีให้ผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ (Untransmittable)

สำหรับ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานผู้รับทุนหลักมีความร่วมมือกับภาคีภาคประชาสังคม 8 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (STM) องค์การอไลท์ (ALIGHT) ศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล (SMRU) มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) มูลนิธิดรีมลอปเม้นท์ (DLP) และมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ร่วมขับเคลื่อนงานการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด โดยเน้น

  • การจัดรูปแบบบริการบูรณาการโดยชุมชนสำหรับประชากรข้ามชาติ
  • การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบในชุมชนที่มีความยืดหยุ่นและความยั่งยืน
  • การจัดตั้งกลไกสนับสนุนทางเทคนิค การขจัดอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชนและเพศภาวะในการเข้าถึงระบบบริการ

ทั้งนี้โดยมีพื้นที่ดำเนินงาน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว ระนอง ภูเก็ต และสงขลา

เส้นทางของการยุติวัณโรคและเอดส์อย่างยั่งยืนในทศวรรษนี้ จะสามารถพลิกโฉมการจัดรูปแบบบริการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะผนวกรวมเอากลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรมยังท้าทายยิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป้ายกำกับ
Child Rights Climate Change CSR Human Rights Migrant SDG กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพ การจัดการภัยพิบัติ การตีตราและเลือกปฏิบัติ การพัฒนาสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของเด็ก ความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืน ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรุนแรงต่อเด็ก งานรณรงค์เพื่อเด็ก จัดการภัยพิบัติ จิตอาสา ทักษะชีวิตเยาวชน ทักษะอาชีพเยาวชน นโยบายการพัฒนาเด็ก น้ำเพื่อชีวิต บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน บริจาคทุนการศึกษา บริจาคเงิน ปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้นำเยาวชน พัฒนาชุมชน ภัยพิบัติ ยุติวัณโรค/End TB ยุติเอดส์/Stop AIDS สังคมแห่งการแบ่งปัน สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ส่งน้องจบ ป-ตรี อดีตเด็กในความอุปการะ อ่านออกเขียนได้ เด็กข้ามชาติ เด็กยากไร้ เสียงเด็กและเยาวชน แรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติ/ประชากรข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ

ข่าวอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า