‘โครงการออมวันละบาท’ สร้างวินัยการเงิน ช่วยเหลือเด็กยากไร้ 

ก้าวสู่ปีที่ 14 กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เดินหน้าออมวันละบาท หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการให้ได้เติบโต

คนไทยยังออมเงินไม่พอ จากรายงานของภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงดัชนีชี้วัดความพร้อมเพื่อการเกษียณ หรือ NRRI ชี้ว่า ยิ่งเป็นที่น่ากังวล เมื่อพบว่าเด็ก อายุ 18 ปีขึ้นไปมีหนี้เร็ว และนานขึ้น สาเหตุจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ทำให้การออมเพื่อเกษียณถูกบั่นทอน จึงเกิดเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานร่วมกันกำหนดมาตรการในการส่งเสริมการออม เข้าไปในหลักสูตรการเงินส่วนบุคคลในโรงเรียน และสถาบันการศึกษา เพื่อกระตุ้นการออม พร้อมเสริมทักษะด้านดิจิทัลไปพร้อมกัน

เรื่องของ ‘การเงิน’ เมื่อรู้ตัวเร็ว ยิ่งเอาตัวรอดได้ไว การปลูกฝังจิตสำนึกในการเก็บออมตั้งแต่ยังเด็กจึงดูเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างเกราะป้องกันให้เด็กๆ ในอนาคต คุณวราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดเผยถึง โครงการออมวันละบาท ของทางโรงเรียนว่า “โครงการนี้ช่วยให้เด็กๆ รู้จักเก็บออมวันละนิด โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างคุณธรรมในจิตใจให้กับเด็กๆ ในการที่จะรู้จักช่วยเหลือคนอื่นและรู้คุณค่าของเงิน”

“คุณครูให้พวกเราประดิษฐ์กระปุกออมสินขึ้นมาเองเพื่อสร้างความสนุกสนานครับ เพื่อนๆ ในห้องมี 50 คน เข้าร่วมโครงการออมวันละบาทหมด โรงเรียนไม่ได้บังคับครับ อย่างปีล่าสุดผมเก็บเงินในกระปุกนับรวมแล้ว 120 กว่าๆ ครับ ผมรู้สึกภูมิใจมากเลยครับที่ผมสามารถเก็บเงินแค่วันละบาท เพิ่มให้มันเป็นร้อยบาทและสามารถนำไปให้คนอื่นที่ด้อยโอกาสมากกว่าผม น้องเซียนเซียน ชนินพัทธ์ อายุ 11 ปี นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการแถมพ่วงตำแหน่งรองประธานสภานักเรียนประถมศึกษา เล่าถึงการออมของตัวเอง

การขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ไปถึงเป้าหมายเพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดี การสร้างวินัย และส่งเสริมกระบวนการคิดในการเก็บออมต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากผู้ปกครองเข้าร่วมด้วย โดยครั้งนี้มี พ่อน็อต ภัคจักร ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เผยว่า “โครงการนี้ ลูกชายเขารู้สึกเหมือนได้รับภารกิจมา เขาจะตั้งธงไว้แล้วว่าหนึ่งเดือนมี 30 วัน ก็ต้อง 30 บาท แต่บางวันมีกิจกรรมพิเศษทำให้มีเงินไม่เหลือกลับมาออม เขาถามว่า ‘วันนี้ผมขอไม่ออมได้ไหม’ เลยบอกเขาว่า ‘ไม่ต้องซีเรียสลูก’ วันแรกที่เราทำยังเคยคุยกันอยู่ว่า ‘ถ้าหนูใส่ 2 บาท 5 บาท 10 บาทได้ไหม ผิดไหม’ ไม่ผิด สุดท้ายธงเราก็ 30 บาท จะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่สร้างระเบียบวินัย เขารู้แล้วว่าเป้าหมายคือ 30 บาท วันนี้อาจจะออมไม่ได้ แต่พรุ่งนี้อาจจะใส่ 2 บาทก็ได้ เขามีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ อันนี้ผมว่าข้อดีโดยตรงเลยที่ฝึกให้เขาคิดเป็น”

อีกเสียงสะท้อนจาก แม่แอ๋ม อรวรรณ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียน เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของลูกชายที่ได้เขาร่วมโครงการว่า “แต่ก่อนเขาจะมีกระปุกออมสินเป็นของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ก็จะแคะบ่อยตามประสาเด็ก พอเขาเข้าร่วมโครงการนี้ เห็นชัดว่าเขาจะเริ่มมีวินัย มีการวางแผนการใช้เงิน เพื่อให้เหลือออมทั้งของน้อง และของเขา เขาชอบพูดว่าเขาเก็บให้น้อง ทุกครั้งที่เขาพูด เขาดูมีความสุข”

“การให้จากหมู่คนเยอะๆ จำนวนหลายๆ คน ให้กันคนละเล็กคนละน้อย มันจะเกิดพลังการเปลี่ยนแปลงได้ ที่ชัดเจน การให้นั้นมีความสุขยิ่งกว่าการรับ ฉะนั้นสิ่งที่เรามองเห็นชัดเจนกับเด็กของเราคือ เขามีความสุขเมื่อเขาได้ให้ และสิ่งที่มีความสุขมากกว่านั้นคือเขาได้เห็นคนที่ได้รับมีความสุขด้วย” ผอ.วราภรณ์ กล่าวเสริม

เมื่อสิ้นสุดระยะการดำเนินโครงการ คณะครูจะให้เด็กๆ นำเงินที่เก็บออมมาตลอดทั้งปีนั้นมาส่งที่ครูเพื่อรวบรวมนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ทางโรงเรียนได้ร่วมกับหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยร่วมดำเนินโครงการนี้มาเป็นปีที่ 14 ภายใต้การดำเนินงานของ โครงการอุปการะเด็ก เพื่อช่วยเหลือเด็ก ครอบครัว และชุมชนยากไร้ ให้มีชีวิตที่ครบบริบูรณ์ ในปีการศึกษา 2023 ได้รับเงินบริจาคจากโครงการออมวันละบาท จำนวน 226,800 บาท เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงานของโครงการอุปการะเด็ก เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิตให้เด็กยากไร้ได้ถึง 27 คน

“มูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นหน่วยงานที่มีความมั่นคง และเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราให้ไปนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงกับเด็กที่ขาดโอกาส เราเห็นชัดเจนในการช่วยเหลือเด็กๆ จากการทํางานของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ค่ะ” ผอ.วราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

การเก็บออมเงินในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงรวบรวมเงินไปช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ด้อยโอกาสกว่าเขา แต่เป็นการสร้างนิสัยการรู้จักออม ส่งเสริมกระบวนการคิด การวางแผนการเงิน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันเป็นทักษะสำคัญที่เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องต่างๆ ทั้งการเงิน การเรียน การทำงาน เมื่อเขาโตขึ้นในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป้ายกำกับ
Child Rights Climate Change CSR Human Rights Migrant SDG กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพ การจัดการภัยพิบัติ การตีตราและเลือกปฏิบัติ การพัฒนาสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของเด็ก ความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืน ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรุนแรงต่อเด็ก งานรณรงค์เพื่อเด็ก จัดการภัยพิบัติ จิตอาสา ทักษะชีวิตเยาวชน ทักษะอาชีพเยาวชน นโยบายการพัฒนาเด็ก น้ำเพื่อชีวิต บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน บริจาคทุนการศึกษา บริจาคเงิน ปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้นำเยาวชน พัฒนาชุมชน ภัยพิบัติ ยุติวัณโรค/End TB ยุติเอดส์/Stop AIDS สังคมแห่งการแบ่งปัน สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ส่งน้องจบ ป-ตรี อดีตเด็กในความอุปการะ อ่านออกเขียนได้ เด็กข้ามชาติ เด็กยากไร้ เสียงเด็กและเยาวชน แรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติ/ประชากรข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ

ข่าวอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า