การดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่น และเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน
มูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้ โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย – USAID Thailand CTIP Project สนับสนุนโดย Winrock International และ USAID มีบทบาทสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ มีการจัดทำแผนขับเคลื่อนงานพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อปฎิบัติ และแนวทางการปฏิบัติงานให้กับทีมสหวิชาชีพและผู้ให้บริการแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าใจถึงแนวทางการทำงานตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) เพื่อการคัดกรอง คัดแยก และคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยยึดหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนางานวิจัยเพื่อส่งเสริมความรู้ให้เข้าใจสถานการณ์การค้ามนุษย์และข้อกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างถูกต้อง
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในมาตรฐานการปฏิบัติงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องสู่การนำไปปฏิบัติจริงในการตรวจคัดกรองในกรณีแรงงานบังคับหรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้ โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย – USAID Thailand CTIP Project พื้นที่ดำเนินงานจังหวัดสระแก้ว ได้จัด กิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพคณะทำงานบูรณาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในหัวข้อ มาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 6/1 ตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 โดยได้รับเกียรติจากสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 20 คนที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้
จาก รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (2024 TIP Report) หนึ่งในข้อเสนอแนะสำคัญต่อการดำเนินงานในประเทศไทยได้ระบุไว้ถึง “การฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 6/1 ของ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน” การอบรมในครั้งนี้ไม่เพียงช่วยพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่เพื่อการปฏิบัติงานในจังหวัดสระแก้วเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับข้อเสนอแนะดังกล่าวเพื่อยกระดับการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ ในการปกป้องและคุ้มครองผู้เสียหายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน