“หนึ่งในข้อเสนอแนะที่พวกเราร่วมกันระดมสมองและจัดทำเป็นมาตรการเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเด็กในครอบครัวที่หย่าร้างคือ ควรมีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือน โดยเฉพาะจำนวนครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกันอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาที่ตรงกับปัญหาที่แท้จริง หลังจากตัวแทนของกลุ่มได้นำเสนอเรียบร้อย ท่านผู้อำนวยการจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้กล่าวตอบรับข้อเสนอแนะเพื่อการเปลี่ยนแปลงมาตรการคุ้มครองเด็ก ประเด็นมาตรการคุ้มครองเด็กในสถาบันครอบครัว โดยท่านกล่าวย้ำด้วยว่าจะนำไปพัฒนาและขับเคลื่อนต่อ”
คำกล่าวด้วยความภูมิใจจาก น.ส.นลินทิพย์ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นผู้นำเยาวชนมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เธอยังบอกเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “นอกจากความประทับใจที่ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ได้เรียนรู้การอยู่และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน และได้รับทราบเกี่ยวกับบ้านพักเด็ก ซึ่งเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ภาครัฐดำเนินการอยู่แล้ว การมาเข้าร่วมเวทีสิทธิแด็ก ครั้งที่ 35 นี้ การที่ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและมาตรการต่างๆ ได้รับการตอบรับว่าจะนำไปขับเคลื่อนต่อ ทำให้หนูเข้าใจความหมายของคำว่าการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างมีความหมายอีกด้วยค่ะ”
เวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 35 ดำเนินงานโดย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2024 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กในทุกมิติ – SAFE ZONE FOR EVERY CHILD” โดยมีสภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศเป็นกำลังหลักในการริเริ่ม วางแผน ประสานงาน และดำเนินกิจกรรมสำคัญนี้ และมีผู้แทนเด็กและเยาวชนจากกลุ่มเด็กหลากหลายทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 105 คนเข้าร่วมงาน โดยมีผู้นำเยาวชนมูลนิธิศุภนิมิตฯ จำนวน 3 คน ที่ได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับโอกาสเข้าร่วมเวทีสิทธิเด็กในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ น.ส.นลินทิพย์ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช น.ส.โสภา และ น.ส.กาญารัตน์ จากจังหวัดเพรชบุรี ในฐานะตัวแทนจากเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง และผู้นำเยาวชนมูลนิธิศุภนิมิตฯ
เวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 35 ได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดงานจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และยังมีตัวแทนผู้บริหาร อาทิ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจกรรมเด็กและเยาวชน นางภิญญา จำรูญศาสน์ รองอธิบดีกรมกิจกรรมเด็กและเยาวชน น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย นายเกรียงไกร ไชยเมืองดี ผู้แทนเครือข่ายสิทธิเด็กล้านนา รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กรมศาสนา กรมสุขภาพจิต กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) มูลนิธิ สาย เด็ก 1387 องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
นอกเหนือจากกิจกรรมเพื่อการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนแล้ว ภาคประชาสังคม หน่วยงานวิชาการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมและจัดนิทรรศการให้ความรู้ รวมถึงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในนาม เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ร่วมจัดกระบวนการ “การระดมความคิดเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อเด็ก และการจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการการคุ้มครองเด็ก” โดย น.ส.สุชิตตา เก่งธัญญการ Learning & Innovation Coordinator มูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นตัวแทนร่วมทำหน้าที่ในการจัดกระบวนการในครั้งนี้ให้กับตัวแทนเยาวชนที่มาร่วมงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญเพื่อส่งเสริมเสียงของเด็กและเยาวชนในการสะท้อนปัญหา ความต้องการ และการเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา
“ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็ก ได้รับฟังปาฐกถาพิเศษจากท่านรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา เรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในทุกมิติ พวกหนูและเพื่อนๆ ยังมีการแบ่งกลุ่มกันตามความสนใจและร่วมกันระดมความคิดเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อเด็ก โดยหนูและกาญารัตน์ มีความสนใจประเด็นความรุนแรงบนโลกออนไลน์ สำหรับหนูนี่คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการบูลลี่กันในโซเชียลมีเดีย หนูต้องการให้ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในโลกออนไลน์และในโซเชียลมีเดีย โดยการตรวจจับและลบข้อความ และคอนเทนต์ต่างๆ ที่เป็นการบูลลี่ ข้อความที่อาจจะเป็นการล่วงละเมิด ให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีค่ะ” น.ส.โสภา จากจังหวัดเพชรบุรี ตัวแทนเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง และผู้นำเยาวชนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าว
น.ส.กาญารัตน์ จากจังหวัดเพชรบุรี ตัวแทนเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง และผู้นำเยาวชนมูลนิธิศุภนิมิตฯ ซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับความรุนแรงในโลกออนไลน์เช่นเดียวกัน ได้กล่าวเสริมว่า
“เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในทุกมิติ เราจะต้องให้ความสำคัญในด้านความรุนแรงในสถานศึกษา ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในสถานบันศาสนาและวัฒนธรรม ความรุนแรงในโลกออนไลน์ ความรุนแรงบนท้องถนน และความรุนแรงจากภัยพิบัติ สำหรับเด็กและเยาวชนจะต้องเรียนรู้และมีภูมิคุ้มกันตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ ในโลกออนไลน์ ที่มีทั้งการล่อลวง การหลอกลวงจากมิจฉาชีพ นอกจากนี้เราอยากให้มีการเข้มงวดด้านการตรวจตรา Applications ต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานใช้เป็นเครื่องมือในการดูหมิ่น กลั่นแกล้ง ล่อลวง หลอกลวง คนอื่นๆ ที่อยู่บนโลกออนไลน์ค่ะ”
เวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 35 คือการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างมีความหมาย … เด็กและเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่ม วางแผน กำหนดรายละเอียดต่างๆ ของงาน รวมถึงในขั้นตอนการดำเนินงานตลอดกิจกรรม ตัวแทนเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม มีการแสดงความคิดเห็น มีการระดมสมองเพื่อร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กในทุกมิติ และผู้ใหญ่ในฐานะตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เปิดใจรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน และนำข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าของเด็กและเยาวชนไปสู่การปฏิบัติในเชิงนโยบาย