มา ติน มาร์ ยืนอยู่ในบ้านของเธอที่จังหวัดระนอง ซึ่งถูกปรับใช้เป็นที่ตั้ง จุดบริการสุขภาพชุมชน ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ให้บริการชุมชนชาวเมียนมาในพื้นที่ด้วย เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็น อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ ว่า เดิมทีเธอมาจากประเทศเมียนมา เธออพยพมาประเทศไทยช่วงเหตุจลาจลที่เมืองย่างกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2531 และอาศัยอยู่ที่นี่นับแต่นั้นเป็นต้นมา
มา ติน มาร์ ได้เข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 และทำงานมาตลอด 29 ปี เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนประชากรข้ามชาติด้านอนามัยเจริญพันธุ์ การต่อต้านการค้ามนุษย์ ตลอดจนการควบคุมวัณโรคและเอดส์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพของพี่น้องประชากรข้ามชาติในพื้นที่
“ย้อนกลับไปตอนนั้น ชุมชนผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่นี่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เมื่อมีคนป่วยพวกเราไม่มีใครรู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องไปที่ไหน หรือจะเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างไร แพทย์ชาวเมียนมาที่ทำงานกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ มาที่ชุมชนของเรา เขาถามว่า ‘คุณอยากช่วยคนเมียนมาของเราให้ได้รับการรักษาพยาบาลไหม?’ ฉันรู้ว่าฉันต้องการให้ชุมชนของฉันรู้จักวิธีดูแลตัวเองเมื่อพวกเขาเจ็บป่วย ฉันจึงมาเป็นอาสาสมัคร” เธอกล่าว
เมื่อว่างจากงานประจำ มา ติน มาร์ ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับบทบาทของเธอในฐานะ อสต. “เมื่อไหร่ที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ขอให้ฉันไปที่ชุมชน ฉันก็จะไป” เธอเล่า งานของเธอจะต่างกันไปในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ช่วยเหลือผู้ป่วยในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ หรือให้ความรู้ด้านสุขภาพในชุมชนเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มประชากรข้ามชาติ เธอฝ่าฟันกำแพงความไว้วางใจโดยใช้ความมุ่งมั่นและความสม่ำเสมอเป็นอาวุธ จนตอนนี้ มา ติน มาร์ เป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจและได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนด้วยดี
“ตอนที่เริ่มเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ ฉันพยายามเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพแต่ฉันยังไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน คนจะพูดว่า ‘เธอคือใคร มาทำอะไรที่นี่ เธอมาบอกเรื่องพวกนี้กับเราทำไม’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พวกเขาเห็นว่าฉันมีเจตนาดี ฉันมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และพวกเขาก็ค่อยๆ รู้จักฉันและเชื่อใจฉันขึ้นเรื่อยๆ”
มา ติน มาร์ รู้สึกอุ่นใจจากการสนับสนุนของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ช่วยยกระดับการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของพี่น้องประชากรข้ามชาติ
“ฉันพบเจอคนในชุมชนที่เจ็บป่วย พวกเขาต้องการการตรวจวินิจฉัยและการรักษา แต่พวกเขาไม่มีเงิน ฉันเคยกังวลว่า ‘ฉันจะหาเงินมาช่วยคนเหล่านี้ได้อย่างไร ฉันจะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง’ แต่ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าฉันสามารถติดต่อทีมของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ และพวกเขาจะให้การสนับสนุนที่จำเป็น”
ประสบการณ์ของเธอตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของ อสต. ในการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและผลสัมฤทธิ์ด้านสุขภาพที่ดีของประชากรข้ามชาติ
“อสต. เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพและชุมชนประชากรข้ามชาติ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่อาจเข้าใจภาษาหรือความต้องการของชุมชนได้ทั้งหมด อสต. มาจากชุมชน เรารู้จักลักษณะเฉพาะและภาษาของคนในชุมชน เราจึงสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและผู้ป่วยเข้าใจกันได้ หากไม่มี อสต. ชุมชนจะไม่ทราบว่าโรงพยาบาลมีบริการใดบ้างหรือไม่ทราบถึงวิธีป้องกันโรค และพวกเขาจะไม่สามารถบอกเล่าอาการของตนเองให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์เข้าใจได้”
ด้วยประสบการณ์เกือบ 30 ปี ในฐานะ อสต. มา ติน มาร์ มีเรื่องราวความสำเร็จมากมาย เธอยิ้มพลางพูดว่า “มีหลายครั้งที่ฉันระบุผู้ป่วยวัณโรคในชุมชนผ่านการทำกิจกรรมให้ความรู้และส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยและรักษา จากนั้นฉันก็ให้การสนับสนุนการรักษาวัณโรคโดยการควบคุมการกินยา (Directly Observed Treatment หรือ DOT) ที่บ้าน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักเป็นเสาหลักที่หาเลี้ยงครอบครัว ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้รับการรักษาจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ พวกเขาจะขอบคุณในสิ่งที่ฉันทำ และฉันรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้”
เมื่อถามถึงความใฝ่ฝัน มา ติน มาร์ ให้ความสำคัญกับชุมชนของเธออย่างเต็มที่
“ฉันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ชุมชนของฉันเข้มแข็ง ฉันพอใจกับชีวิตในทุกวันนี้ ตอนนี้สิ่งเดียวที่ฉันต้องการคือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้อื่น ฉันอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรค เพื่อที่จะได้แบ่งปันความรู้นี้กับชุมชนของฉัน สถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทำให้มีผู้คนจำนวนมากย้ายเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีป้องกันโรคหรือการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ฉันอยากให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง สามารถดูแลตัวเองและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ เพื่อให้พวกเขาทำงานมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น และส่งเงินกลับบ้านได้ ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้”