“วันนั้นตอน 10 โมงเช้า ผมกำลังมุงหลังคาบ้าน อยู่ๆ ก็เกิดแผ่นดินไหว บ้านโยกเยก พอมองไปทางโน้นก็เห็นคลื่นยักษ์กำลังมา ผมรีบวิ่งไปบอกภรรยาให้พาลูกวิ่งหนีขึ้นที่สูง ทุกอย่างพังหมดเลย กระชังที่เลี้ยงปลาไปหมด บ้านก็พัง ทุกอย่างไปหมด”
ผ่านมาร่วม 20 ปี แต่สำหรับลุงสมชัย ตะติ ชาวบ้านท่าดินแดง จ.พังงา ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ยังคงเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่คอยซัดอยู่ในคลื่นความทรงจำของลุงสมชัยไม่เคยหยุด
“ภัยพิบัติสึนามิ” สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ คลื่นลูกใหญ่ที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลลึกของอินโดนิเซีย คลื่นยักษ์์ซัดเข้าฝั่งทำลายทรัพย์สินและคร่าชีวิตผู้คนนับแสน โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตและสูญเสียหายกว่า 8,000 ราย
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยทุกองค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชน รุดหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็น พร้อมกับดำเนินโครงการฟื้นฟูเยียวยา มอบอาชีพให้ผู้ประสบภัย ส่งเสริมความรู้ จัดหาเครื่องมือประกอบอาชีพและต้นทุนในการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนเพื่อให้ผู้ประสบภัยตั้งตัวได้อีกครั้ง ถือการดำเนินงานบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินครั้งใหญ่ที่สุด ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูและเยียวยาชุมชนต่อเนื่อง โครงการฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิ ประกอบด้วยการสร้างบ้านใหม่ ซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและมั่นคง
เมื่อยามพายุพัดผ่านด้วยสายธารน้ำใจที่ส่งผ่านมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในขณะนั้น ได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของลุงสมชัยและผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างทันท่วงที “ตอนนั้นมูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้ลูกแพะให้มาขยายพันธุ์เลี้ยงประกอบอาชีพ ตอนนี้มีประมาณ 30 กว่าตัว ใครมาซื้อก็ขาย จำหน่ายไปเรื่อยๆ พร้อมกับให้กระชังปลามา ให้เรือมาลำหนึ่งไว้ทำมาหากิน” ลุงสมชัย กล่าว อาชีพประมงและฟาร์มแพะจึงเป็นรายได้หลักในการเลี้ยงดูครอบครัวตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
ด้าน ซิดดิก ลูกชายของลุงสมชัย ปัจจุบันอายุ 20 ปี กำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกระบี่ ในวัยที่ยังไม่ถึงขวบ แม้ไม่มีความทรงจำกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่เมื่อเขาโตขึ้นเขาได้ย้อยกลับไปดูภาพเหตุการณ์ต่างๆ “ผมไปดูย้อนหลังในปีที่เกิดสึนามึ ดูจากยูทูป ดูในทีวี เป็นภาพที่น่ากลัวมาก พ่อก็เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนเป็นไงบ้าง เจออะไรบ้าง มูลนิธิศุภนิมิตฯ เข้ามาช่วยเหลือผมและครอบครัว ได้ให้แพะมาในการประกอบอาชีพเสริม สร้างรายได้ มาสนับสนุนผมด้านการเรียน การศึกษา ช่วยในอุปกรณ์การเรียน ค่าศึกษาเล่าเรียน และพาไปทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยครับ”
สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและในชุมชน เป็นแรงผลักดันให้ซิดดิกอยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด “ตอนนี้ผมเรียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและนันทนาการ ผมอยากเป็นไกด์ อยากมาพัฒนาหมู่บ้านเราให้มีชื่อเสียงให้ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะๆ” ซิดดิก กล่าวเพิ่มเติม
ภัยพิบัติสึนามิในปี 2004 นับเป็นอุทาหรณ์ให้คนไทยตระหนักถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ต้องเตรียมความพร้อมทั้งมาตรการและระบบเตือนภัยเพื่อลดทอนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน เพราะภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และข้อท้าทายของเด็กเปราะบางยากไร้และครอบครัว แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ลดความรุนแรงได้ โดยพันธกิจของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ปลูกฝังให้เด็กและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และเตรียมพร้อมควบคุมความเสียหายหลังจากภัยพิบัติผ่านไป ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นในโรงเรียนและชุมชน