“แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้หญิง ยังคงกลัวว่าความที่เป็นแรงงานข้ามชาติพวกเขาอาจถูกเลือกปฏิบัติ ทำให้เข้าไม่ถึงหรือยากที่จะได้รับสิทธินั้น แต่การที่เราซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติเหมือนกับพวกเขา เราไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล ไปคลอดลูก เอกสารจำเป็นในฐานะแรงงานข้ามชาติถูกต้อง ครบถ้วน ลูกๆ ของเราก็มีเอกสารการเกิด เติบโตและได้ไปโรงเรียน เราจะช่วยจุดประกายความกล้าให้แรงงานผู้หญิง และแรงงานข้ามชาติได้เห็นว่า ทุกคนสามารถเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีความเป็นอยู่และได้รับความยุติธรรมตามสิทธิแรงงานได้เช่นเดียวกัน” ละมอว์ แรงงานข้ามชาติหญิงชาวเมียนมา
ละมอว์ อาศัยอยู่ที่แคมป์แรงงานก่อสร้างร่วมกับสามีและลูกๆ เธอให้นิยามตัวเองว่าเป็นแรงงานข้ามชาติที่โชคดี ตั้งแต่ก้าวแรกของเธอที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เธอได้ทำงานกับนายจ้างที่ใส่ใจสิทธิของแรงงาน มีการดำเนินงานด้านเอกสารในฐานะแรงงานข้ามชาติอย่างครบถ้วน นั่นเป็นประตูบานแรกที่ทำให้ละมอว์เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิที่แรงงานข้ามชาติพึงได้รับ
“พอตั้งครรภ์เราก็ไปใช้บริการฝากครรภ์และคลอดบุตร และมีการทำเอกสารการเกิดของเด็กๆ อย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขยังช่วยให้ความรู้การดูแลเด็กแรกเกิดด้วย เป็นลูกแฝดผู้หญิง แข็งแรง ทั้ง 2 คนตอนนี้เข้าโรงเรียนแล้วค่ะ”
แต่ในขณะเดียวกัน ละมอว์ก็ตระหนักดีว่าไม่ใช่แรงงานข้ามชาติทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติหญิง หลายคนไม่มีความกล้าที่จะเข้ารับบริการตามสิทธิแรงงานของตน หลายคนมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติจนทำให้เกิดเป็นความกลัว
“สิ่งที่เราอยากทำที่สุดคือ ใช้ตัวเราเองเป็นตัวอย่างให้เพื่อนๆ ได้เห็นว่าหากเรามีเอกสารการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องเราย่อมมีสิทธิตามกฎหมายแรงงาน และเราสามารถเข้าถึงสิทธินั้นได้จริง เสริมความกล้า บอกเล่าความรู้ ทำให้เพื่อนแรงงานข้ามชาติเข้าใจ เพื่อบอกพวกเขาว่าทำได้จริง เรารู้อะไร เราก็ต้องบอกอย่างนี้ๆ คนที่เขาพูดไทยไม่ได้ คนที่เขาฟังไม่ออก เราก็อธิบายให้เขา มีคนเข้าใหม่ก็แนะนำค่ะ สมมติว่าเขาถามเรา เขาคลอดลูก ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำอะไร เราก็ช่วยตอบให้ รวมถึงเรื่องประกันสังคมของแรงงาน ค่าจ้างและวันหยุด เรามีประกันสังคม ถ้าเราไม่มีงาน เราไปแจ้งอะไรยังไงได้ที่ไหน เราก็จะคุยกับเพื่อนๆ ให้เขาเข้าใจ เขาจะได้รับสิทธิตามที่ควรจะมีของเขา”
การส่งเสริมแรงงานข้ามชาติ และแรงงานข้ามชาติหญิงและเด็ก ให้เข้าถึงและได้รับความเท่าเทียมทางสิทธิแรงงาน จำเป็นต้องได้รับร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งแรงงาน นายจ้าง ภาคเอกชน ภาครัฐ และอีกส่วนสำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้แรงงานข้ามชาติกล้าทำเพื่อสิทธิของตน ด้วยความเข้าใจ ความถูกต้อง
“เขาเห็นเราทำได้ เขาได้รับความรู้ เขาเข้าใจเรื่องสิทธิที่พวกเขามี ลบภาพจำเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ เปลี่ยนเป็นความเชื่อว่าเขามีสิทธิและเข้าถึงมันได้ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม เราทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะมีชีวิตที่ดีตามความเหมาะสม”
———
ละมอว์ คือหนึ่งในแรงงานข้ามชาติหญิงที่ได้เข้าร่วม โครงการการเข้าถึงแรงงานข้ามชาติหญิงและครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง ดำเนินงานโดยมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ผ่าน ‘โครงการปลอดภัยและยุติธรรม (Safe and Fair Programme)