เพื่อให้สามารถยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ได้ตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่การยุติวัณโรคและเอดส์ภายในปี พ.ศ.2573 โดยจะขับเคลื่อนแบบบูรณาการโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและจัดรูปแบบบริการโดยชุมชน สร้างเสริมระบบการบริการที่เป็นมิตรแก่กลุ่มประชากรหลัก สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้ระบบของชุมชน และขจัดปัญหาอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชนและเพศสภาวะในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ด้วยการสร้างกลไกในการสนับสนุนชุดความรู้ที่สำคัญ เทคนิคการทำงาน และการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อให้กลุ่มประชากรหลัก เช่น กลุ่มประชากรข้ามชาติ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคคลข้ามเพศ พนักงานบริการและคู่ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพด้านวัณโรคและเอดส์ อย่างเท่าเทียม เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ
มูลนิธิศุภนิมิติแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่มีการดำเนินงานยุติวัณโรคและเอดส์อย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนโลก (Global Fund) และยังเป็นผู้รับทุนหลักจากกองทุนโลกในการดำเนินงาน โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ประจำปี พ.ศ. 2567-2569 (Stop TB and AIDS through RRTTPR year 2024-2026 – STAR4) ได้ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) ผนึกกำลังจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “สิทธิมนุษยชน เพศภาวะ การตีตราและการเลือกปฏิบัติ ความรอบรู้ทางด้านกฎหมายสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ” ณ วัฒนา วิลเลจ รีสอร์ท อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ภาคสนาม อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ ทั้งจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ และจากโครงการ M-Fund ของมูลนิธิดรีมลอปเม้นท์ (DLP) ประจำพื้นที่ปฏิบัติงาน จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน จ.กาญจนบุรี และพื้นที่เชื่อมต่อประเทศเมียนมา 60 คนเข้าร่วมการอบรมฯ
การอบรมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการบูรณาการงานด้านสิทธิมนุษยชน การตีตราและเลือกปฏิบัติ และความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาตจิสามารถขยายขอบเขตการดำเนินงานส่งต่อความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายซึ่งครอบคลุมกลุ่มประชากรข้ามชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในการบูรณาการด้านสิทธิมนุษยชน
ดร.ศรุต มูลสาร ผู้จัดการโครงการด้านสิทธิมนุษยชน เพศภาวะ และการสร้างเสริมระบบชุมชนที่เข้มแข็ง มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ว่า
“คำสำคัญที่เราต้องการให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติเข้าใจคือ สิทธิมนุษยชน เพศภาวะ การตีตราและการเลือกปฏิบัติ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีทั้งกลุ่มประชากรข้ามชาติ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคคลข้ามเพศ พนักงานบริการและคู่ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพด้านวัณโรคและเอดส์ อย่างเท่าเทียม เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ มีกำแพงหลายชั้นในการกั้นไม่ให้กลุ่มประชากรหลักเหล่านี้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ ซึ่งรวมถึงการกดทับด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของสังคม”
กลุ่มประชากรข้ามชาติ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคคลข้ามเพศ พนักงานบริการและคู่ ท่ามกลางความหลากหลายนี้ พวกเขาทุกคนเป็นผู้ป่วย HIV หรือไม่ สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV พวกเขาติดเชื้อเพราะมีคู่นอนหลายคนจริงหรือไม่ แล้วผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนจะต้องเป็นผู้ติดเชื้อ HIV จริงหรือไม่ และสุดท้าย เราในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมยอมรับหรือไม่กับการเรียกขานพี่น้องแรงงานข้ามขาติว่า ‘ต่างด้าว’ ซึ่งเป็นคำที่กดทับสถานะของคนแทนที่จะเรียกขานพวกเขาว่าคนต่างชาติ หรือเรียกขานตามสัญชาติหรือประเทศที่มาของพวกเขา
หากคำตอบคือ ‘ไม่’ ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เราหลายคนได้ผลิตสร้างและผลิตซ้ำทางสังคมจากความเชื่อ ความรู้ ทัศนคติ มุมมองต่อประเด็นต่างๆ ทางสังคม ส่งผลให้เกิดการให้คุณค่าหรือลดคุณค่าต่อบางสิ่งบางอย่าง รวมทั้งสร้างภาพเหมารวมทางสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ทุกคน รวมถึงกลุ่มประชากรหลักต่างๆ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพด้านวัณโรคและเอดส์ อย่างเท่าเทียม เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ