ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่คนไทยภายใต้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและขึ้นทะเบียนตามกฎหมายสามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพได้ผ่านกองทุนประกันสังคมหรือการซื้อประกันสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ แต่มีข้อจำกัดหลายประการที่ส่งผลต่อการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพเหล่านี้ ดังที่ระบุไว้ใน รายงานภารกิจร่วมขององค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทบทวนความสามารถในการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติในประเทศไทย แม้จะมีความก้าวหน้าในการครอบคลุมประชากรข้ามชาติเข้าไว้ในบริการด้านสุขภาพ แต่ระบบสุขภาพในประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของประชากรข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานประมาณ 1-2 ล้านคน รวมถึงผู้ติดตามแรงงานที่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก ถือเป็นข้อจำกัดอีกประการที่ส่งผลต่อระดับการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพในประชากรข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติกลุ่มหลังนี้คือกลุ่มเปราะบางที่ต้องพึ่งพาองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
ต้นแบบการให้บริการสุขภาพถ้วนหน้าในแม่สอด
อำเภอแม่สอด เมืองชายแดนที่ใหญ่ที่สุดระหว่างประเทศไทยและเมียนมา ได้พัฒนา ศูนย์สุขภาพชุมชน ด้วยรูปแบบการดำเนินงานที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานในทุกกลุ่มประชากรโดยไม่จำกัดถึงสิทธิการรักษา การดำเนินงานศูนย์สุขภาพชุมชนประสบความสำเร็จด้วยความร่วมมือของโรงพยาบาลแม่สอด ภาครัฐ ภาคประชาสังคมในท้องถิ่น รวมถึง มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิดรีมลอปเม้นท์ คณะกรรมการช่วยเหลือและกู้ภัยนานาชาติ (IRC) ศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล (SMRU) แม่ตาวคลินิก องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน และอื่นๆ
ปัจจุบัน โรงพยาบาลแม่สอดมีการให้บริการ ศูนย์สุขภาพชุมชน 1 แห่ง ให้บริการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน การให้บริการวัคซีนป้องกันโรคสำหรับเด็ก การฝากครรภ์ และการสนับสนุนวางแผนครอบครัวแก่ประชากรข้ามชาติ โดยมีทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลแม่สอดในการให้บริการ ในขณะที่ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) สนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ในชุมชนโดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมโรคและการป้องกันโรค อสต. เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและส่งเสริมการใช้บริการด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ
“อสต. มีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยเจ้าหน้าที่ในการทำงาน เนื่องจากสถานพยาบาลมีบุคลากรจำกัด เจ้าหน้าที่มีภาระงานหลายด้านทั้งในการส่งเสริม ป้องกันและรักษา ความหลากหลายของวัฒนธรรมในชุมชนต่างชาติ เป็นข้อจำกัดแก่เจ้าหน้าที่ในการทำงานในชุมชนต่างชาติที่หลากหลายชาติพันธุ์ อสต.จะช่วยสร้างความไว้วางใจในชุมชนและช่วยให้ประชากรข้ามชาติสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้มากขึ้น” ตัวแทน อสต. กล่าว
วีรญา ยังเน้นย้ำว่า “อสต. ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมทางวัฒนธรรมระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพและชุมชน รวมถึงส่งเสริมความไว้วางใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน”
โรงพยาบาลแม่สอดมีโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ อสต. ประจำทุกปี แต่ด้วยความสนใจจากชุมชนที่เพิ่มขึ้นเกินกว่างบประมาณที่มีอยู่ มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงเข้ามาสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมซึ่งช่วยขยายขอบเขตของโครงการได้เป็นอย่างดี
การสนับสนุนของมูลนิธิศุภนิมิตฯ เพื่อขยายขีดความสามารถการให้บริการด้านสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพชุมชนมะดีนะฮ์ อ.แม่สอด จ.ตาก ประกอบไปด้วย คุณวีรญา ศีลพร ในฐานะหัวหน้าพยาบาลชาวไทย พยาบาลชาวเมียนมา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนชาวไทยอีก 5 คนที่พูดภาษาพม่าและภาษากะเหรี่ยงได้
วีรญา ย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม โดยอธิบายว่า “เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนเข้าใจวัฒนธรรมและภาษาของชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความไว้วางใจ” เธอสวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงเพื่อแสดงถึงการอยู่ร่วมกัน โดยกล่าวว่า “ฉันเป็นคนไทย แต่ฉันใส่เสื้อตัวนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าที่นี่ยินดีต้อนรับและดูแลสุขภาพให้แก่ทุกคน”
ศูนย์สุขภาพชุมชนมะดีนะฮ์ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2547 และได้มีการย้ายที่ตั้งมายังอาคารหลังใหม่ใน พ.ศ. 2567 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนโลก มูลนิธิรักษ์ไทย และ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งนี้ให้บริการรักษาประชากรข้ามชาติประมาณ 8,000 คนต่อปี และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นตามการขยายสถานที่ให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของผู้โยกย้ายถิ่นฐานระหว่างเมืองเมียวดีและแม่สอด
มุ่งเน้นการดูแลเชิงป้องกันและการให้บริการด้านสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพชุมชนมะดีนะฮ์ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานและบริการคุมกำเนิด 5 วัน/สัปดาห์ ให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กในวันอังคาร และการฝากครรภ์ในวันพุธ อีกทั้งยังใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมชุมชนและการให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพในแม่สอด
“สุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐานของปัจจัยสี่ หากคุณมีสุขภาพแข็งแรง คุณก็สามารถทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่มได้ เราอยากจะมั่นใจว่าประชาชนรู้วิธีดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด เพื่อให้ห่างไกลจากการเจ็บป่วยเพราะสภาพแวดล้อมและบริบทความเป็นอยู่” วีรญา อธิบาย
บทบาทสำคัญของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการสนับสนุนการให้บริการคลินิกเคลื่อนที่
มูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้การสนับสนุนหลายด้านที่สำคัญในแม่สอด รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณสำหรับ คลินิกเคลื่อนที่ 2 แห่ง ที่ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่คนในพื้นที่ห่างไกลหรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปยังสถานที่ให้บริการด้านสุขภาพได้ คลินิกเคลื่อนที่เหล่านี้ขยายการเข้าถึงการดูแลสุขภาพไปยังชุมชนที่อยู่ห่างไกล และช่วยให้มั่นใจได้ว่าประชากรในพื้นที่ห่างไกลจะได้รับการฉีดวัคซีนจำเป็น นอกจากนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังให้การสนับสนุนการรักษาเป็นรายบุคคลตามแต่ละกรณี โดยให้ความช่วยเหลือประชากรข้ามชาติที่เผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของโรงพยาบาล
วีรญา เล่าเรื่องราวของหญิงสาวตั้งครรภ์ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี แต่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้เนื่องจากเธอไม่มีเอกสารประจำตัว “เราติดต่อมูลนิธิศุภนิมิตฯ และพวกเขาก็ให้การสนับสนุนที่จำเป็น” วีรญา กล่าว
การเข้ามาช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีทำให้หญิงสาวได้รับการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งตอกย้ำถึงบทบาทของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะผู้ต่อสายป่านชีวิตสำหรับประชากรข้ามชาติที่เผชิญอุปสรรคด้านสถานะทางกฎหมายและข้อจำกัดทางการเงินในการเข้าถึงการรักษา
การสนับสนุนจากชุมชนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
อุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชากรข้ามชาติ คือ การขาดความเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประชากรข้ามชาติ เกิดเป็นความแตกต่างทางความคิดเห็นและการปฏิบัติ แต่สำหรับเมืองชายแดนอย่างแม่สอด อุปสรรคนี้แทบจะไม่เป็นปัญหา
“เรามีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประชากรข้ามชาติเข้าถึงระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้ครอบคลุมมากขึ้น ด้วยบริบทของพื้นที่ชายแดน เราจำเป็นต้องส่งเสริมการเข้าถึงการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการป้องกันและควบคุมโรคที่ครอบคลุม นับเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประชากรกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น”
ประเด็นสำคัญของการให้บริการสุขภาพเพื่อส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของแม่สอด คือ ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ นอกเหนือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข รวมถึงการทำงานร่วมกับ NGO ที่มุ่งเน้นด้านสิทธิเด็ก สิทธิแรงงานข้ามชาติ สิทธิมนุษยชน และด้านการศึกษาเพื่อขยายความพยายามในการเข้าถึงด้านสุขภาพ ตัวอย่างเช่น เมื่อโรงพยาบาลหรือศูนย์สุขภาพชุมชนต้องการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ (Migrant Learning Centre – MLC) พวกเขาจะร่วมมือกับ NGO ในพื้นที่ที่ทำงานด้านการศึกษา เป็นต้น
ความท้าทายในการเข้าถึงชุมชนประชากรข้ามชาติ
อุปสรรคทางวัฒนธรรม นับเป็นความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่ลดทอนความสามารถของผู้หญิงในการทำงานหนักในบางชุมชน ทำให้บางคนไม่ใช้บริการเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยการให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการคุมกำเนิดและการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น ความเชื่อเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป
ในลักษณะเดียวกัน ประชากรข้ามชาติบางคนยังไม่ทราบถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนในวัยเด็ก หรือเกิดความสงสัยหากมีไข้หลังการฉีดวัคซีนตามปกติ แต่ความพยายามในการเข้าถึงชุมชนและการแบ่งปันประสบการณ์เชิงบวกเพื่อขจัดความเข้าใจผิดและทำให้เกิดความวางใจ จากการดำเนินงานของศูนย์สุขภาพชุมชนที่ผ่านมา พบว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเน้นย้ำกับกลุ่มประชากรข้ามชาติว่า พวกเรากำลังให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแบบเดียวกับที่เด็กไทยได้รับเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กทุกคน
ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ ส่งผลกับความต่อเนื่องในการดูแลรักษาโรคอย่างเห็นได้ชัด แรงงานข้ามชาติมักจะย้ายที่อยู่เพื่อทำงาน ทำให้สถานที่ให้บริการด้านสุขภาพให้การรักษาต่อเนื่องได้ยาก
สุขภาพที่ดีขึ้นและความไว้วางใจจากชุมชนที่เพิ่มขึ้น
นับตั้งแต่มีการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานฟรีโดย ศูนย์สุขภาพชุมชนมะดีนะฮ์ เกิดสัมฤทธิผลด้านสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในชุมชนประชากรข้ามชาติ ก่อนที่จะมีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน ประชากรข้ามชาติมักละเลยการดูแลสุขภาพ ผู้คนเสียชีวิตจากโรคที่รักษาได้ เช่น วัณโรคหรือเอชไอวี เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าควรไปพบแพทย์หรือไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้
ด้วยบริการของศูนย์สุขภาพชุมชนที่พร้อมให้บริการในขณะนี้ ชุมชนมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความต้องการด้านสุขภาพของตนเองและสถานที่ที่จะขอความช่วยเหลือ ขณะนี้ประชากรข้ามชาติสามารถบอกเล่าอาการต่างๆ ในภาษาของตนเองและเข้าถึงการดูแลรักษาที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น แม่ลูกหกที่อพยพมาจากเมียนมาตั้งแต่ยังเด็ก ได้ใช้บริการศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งนี้เพื่อรับการดูแลก่อนและหลังคลอดบุตร รวมถึงการดูแลสุขภาพบุตรของเธอ เธอรู้สึกขอบคุณสำหรับการเข้าถึงบริการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งบอกว่าแต่ก่อนการไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ปัจจุบัน เธอเป็นกระบอกเสียงเพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชากรข้ามชาติในชุมชนของเธอเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับการดูแลสุขภาพ หรือการฉีดวัคซีนให้กับลูกๆ
“เป็นเรื่องดีที่คนที่ไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้ สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ที่นี่ ฉันรู้สึกขอบคุณที่มีศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งนี้”
ผลลัพธ์ของความพยายามในการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเรื่องการฉีดวัคซีนในเด็ก ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายทั่วแม่สอดอย่างเห็นได้ชัดเจน อย่างไรก็ดี การให้ความรู้อย่างต่อเนื่องยังคงจำเป็นและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดตาก เช่น อำเภอพบพระและอุ้มผาง เป็นต้น
ทิศทางและแนวทางการพัฒนาการศึกษาด้านสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพชุมชนมะดีนะฮ์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเรียนรู้ด้านสุขภาพผ่านสื่อภาพและเสียงที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากประชากรข้ามชาติในพื้นที่จำนวนมากไม่สามารถอ่านสื่อที่เป็นลายลักษณ์อักษรได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ทีมงานต้องการการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ เช่น โทรทัศน์และทรัพยากรในการผลิตสื่อวิดีโอเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ วีรญายังคงมีความมุ่นมั่นในการทำงานของเธอ โดยกล่าวว่า “เมื่อฉันเห็นคนไข้หายดีและยิ้มได้อีกครั้ง ทำให้ฉันมีความสุขใจ นั่นคือแรงบันดาลใจของฉัน นั่นคือสิ่งที่ผลักดันให้ฉันทำงานนี้”