อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ เชื่อมต่อประชากรข้ามชาติและบริการสุขภาพ

29 ปีกับบทบาท ‘อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ - อสต.’ ฮีโร่ผู้เชื่อมต่อประชากรข้ามชาติและบริการสุขภาพ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคใน จ.ระนอง ของ ‘มา ติน มาร์’
'มา ติน มาร์' อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ มูลนิธิศุภนิมิตฯ จ.ระนอง เชื่อมต่อประชากรข้ามชาติและบริการสุขภาพ

มา ติน มาร์ ยืนอยู่ในบ้านของเธอที่จังหวัดระนอง ซึ่งถูกปรับใช้เป็นที่ตั้ง จุดบริการสุขภาพชุมชน ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ให้บริการชุมชนชาวเมียนมาในพื้นที่ด้วย เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็น อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ ว่า เดิมทีเธอมาจากประเทศเมียนมา เธออพยพมาประเทศไทยช่วงเหตุจลาจลที่เมืองย่างกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2531 และอาศัยอยู่ที่นี่นับแต่นั้นเป็นต้นมา

มา ติน มาร์ ได้เข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 และทำงานมาตลอด 29 ปี เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนประชากรข้ามชาติด้านอนามัยเจริญพันธุ์ การต่อต้านการค้ามนุษย์ ตลอดจนการควบคุมวัณโรคและเอดส์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพของพี่น้องประชากรข้ามชาติในพื้นที่

“ย้อนกลับไปตอนนั้น ชุมชนผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่นี่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เมื่อมีคนป่วยพวกเราไม่มีใครรู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องไปที่ไหน หรือจะเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างไร แพทย์ชาวเมียนมาที่ทำงานกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ มาที่ชุมชนของเรา เขาถามว่า ‘คุณอยากช่วยคนเมียนมาของเราให้ได้รับการรักษาพยาบาลไหม?’ ฉันรู้ว่าฉันต้องการให้ชุมชนของฉันรู้จักวิธีดูแลตัวเองเมื่อพวกเขาเจ็บป่วย ฉันจึงมาเป็นอาสาสมัคร” เธอกล่าว

เมื่อว่างจากงานประจำ มา ติน มาร์ ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับบทบาทของเธอในฐานะ อสต. “เมื่อไหร่ที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ขอให้ฉันไปที่ชุมชน ฉันก็จะไป” เธอเล่า งานของเธอจะต่างกันไปในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ช่วยเหลือผู้ป่วยในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ หรือให้ความรู้ด้านสุขภาพในชุมชนเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มประชากรข้ามชาติ เธอฝ่าฟันกำแพงความไว้วางใจโดยใช้ความมุ่งมั่นและความสม่ำเสมอเป็นอาวุธ จนตอนนี้ มา ติน มาร์ เป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจและได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนด้วยดี

“ตอนที่เริ่มเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ ฉันพยายามเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพแต่ฉันยังไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน คนจะพูดว่า ‘เธอคือใคร มาทำอะไรที่นี่ เธอมาบอกเรื่องพวกนี้กับเราทำไม’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พวกเขาเห็นว่าฉันมีเจตนาดี ฉันมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และพวกเขาก็ค่อยๆ รู้จักฉันและเชื่อใจฉันขึ้นเรื่อยๆ”

มา ติน มาร์ รู้สึกอุ่นใจจากการสนับสนุนของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ช่วยยกระดับการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของพี่น้องประชากรข้ามชาติ

“ฉันพบเจอคนในชุมชนที่เจ็บป่วย พวกเขาต้องการการตรวจวินิจฉัยและการรักษา แต่พวกเขาไม่มีเงิน ฉันเคยกังวลว่า ‘ฉันจะหาเงินมาช่วยคนเหล่านี้ได้อย่างไร ฉันจะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง’ แต่ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าฉันสามารถติดต่อทีมของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ และพวกเขาจะให้การสนับสนุนที่จำเป็น”

ประสบการณ์ของเธอตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของ อสต. ในการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและผลสัมฤทธิ์ด้านสุขภาพที่ดีของประชากรข้ามชาติ

“อสต. เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพและชุมชนประชากรข้ามชาติ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่อาจเข้าใจภาษาหรือความต้องการของชุมชนได้ทั้งหมด อสต. มาจากชุมชน เรารู้จักลักษณะเฉพาะและภาษาของคนในชุมชน เราจึงสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและผู้ป่วยเข้าใจกันได้ หากไม่มี อสต. ชุมชนจะไม่ทราบว่าโรงพยาบาลมีบริการใดบ้างหรือไม่ทราบถึงวิธีป้องกันโรค และพวกเขาจะไม่สามารถบอกเล่าอาการของตนเองให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์เข้าใจได้”

ด้วยประสบการณ์เกือบ 30 ปี ในฐานะ อสต. มา ติน มาร์ มีเรื่องราวความสำเร็จมากมาย เธอยิ้มพลางพูดว่า “มีหลายครั้งที่ฉันระบุผู้ป่วยวัณโรคในชุมชนผ่านการทำกิจกรรมให้ความรู้และส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยและรักษา จากนั้นฉันก็ให้การสนับสนุนการรักษาวัณโรคโดยการควบคุมการกินยา (Directly Observed Treatment หรือ DOT) ที่บ้าน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักเป็นเสาหลักที่หาเลี้ยงครอบครัว ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้รับการรักษาจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ พวกเขาจะขอบคุณในสิ่งที่ฉันทำ และฉันรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้”

เมื่อถามถึงความใฝ่ฝัน มา ติน มาร์ ให้ความสำคัญกับชุมชนของเธออย่างเต็มที่

“ฉันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ชุมชนของฉันเข้มแข็ง ฉันพอใจกับชีวิตในทุกวันนี้ ตอนนี้สิ่งเดียวที่ฉันต้องการคือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้อื่น ฉันอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรค เพื่อที่จะได้แบ่งปันความรู้นี้กับชุมชนของฉัน สถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทำให้มีผู้คนจำนวนมากย้ายเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีป้องกันโรคหรือการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ฉันอยากให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง สามารถดูแลตัวเองและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ เพื่อให้พวกเขาทำงานมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น และส่งเงินกลับบ้านได้ ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป้ายกำกับ
Child Rights Climate Change CSR Human Rights Migrant SDG กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพ การจัดการภัยพิบัติ การตีตราและเลือกปฏิบัติ การพัฒนาสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของเด็ก ความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืน ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) ความรับผิดชอบต่อสังคม ความรุนแรงต่อเด็ก งานรณรงค์เพื่อเด็ก จัดการภัยพิบัติ จิตอาสา ทักษะชีวิตเยาวชน ทักษะอาชีพเยาวชน นโยบายการพัฒนาเด็ก น้ำเพื่อชีวิต บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน บริจาคทุนการศึกษา บริจาคเงิน ปกป้องคุ้มครองเด็ก ผู้นำเยาวชน พัฒนาชุมชน ภัยพิบัติ ยุติวัณโรค/End TB ยุติเอดส์/Stop AIDS สังคมแห่งการแบ่งปัน สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ส่งน้องจบ ป-ตรี อดีตเด็กในความอุปการะ อ่านออกเขียนได้ เด็กข้ามชาติ เด็กยากไร้ เสียงเด็กและเยาวชน แรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติ/ประชากรข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ

ข่าวอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า